วันเปิดให้บริการ : วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 3,4 และ 5 เวลา : 08.00น. - 16.00น.

ความดันโลหิต คือ แรงดันเลือด ที่เกิดจากหัวใจ สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย การวัดความดันโลหิตสามารถทำโดยใช้เครื่องมือหลายชนิด แต่ชนิดที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตมาตรฐานชนิดปรอท เครื่องวัดความดันโลหิตดิจิตอลชนิดอัตโนมัติ ค่าของความดันโลหิตมีหน่วยเป็น มิลลิเมตรปรอท จะมี 2 ค่า

1 ความดันตัวบน (ซีสโตลิก) เป็นแรงดันเลือด ขณะหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัว
2 ความดันตัวล่าง (ไดแอสโตลิก) เป็นแรงดันเลือดขณะหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัว ระดับความดันโลหิตที่ถือว่าสูงนั้น จะมีค่าความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท

สาเหตุ

ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน คือตรวจไม่พบความผิดปกติของร่างกายที่เป็นต้นเหตุของความดันโลหิตสูง มีส่วนน้อยที่จะรู้สาเหตุที่ทำให้ความดันสูง เช่น ไตวาย เนื้องอกของไต มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่

1 อายุที่สูงขึ้นโดยเฉพาะมากกว่า 40 ปี
2 มีพ่อหรือแม่ พี่หรือน้องเป็นความดันโลหิตสูง
3 มีภาวะเบาหวาน
4 มีสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยง และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะคนเมืองมากขึ้น เช่น ขาดการออกกำลังกาย, ภาวะอ้วน, ภาวะเครียดเรื้อรัง, ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ในปริมาณมากเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด

อาการ

ความดันโลหิตสูงระดับอ่อน หรือปานกลาง ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแต่อย่างไร แต่มักตรวจ พบโดยบังเอิญ ขณะไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาจากปัญหาอื่น มีบางส่วนอาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุบๆ หากเป็นมานานหรือความดันโลหิตสูงมากๆ อาจมีอาการเลือดกำเดาไหล ตามัว ใจสั่น มือเท้าชา เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเกิดอาการผิดปกติ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้จนมีการทำลายอวัยวะ ต่างๆ จะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนในที่สุด เช่น หัวใจ ล้มเหลว หัวใจขาดเลือด เป็นอัมพาต ไตวาย ฯลฯ

ลดเค็ม ลดความดันโลหิต ป้องกันความดันโลหิตสูงต้องลดเค็ม

คุณรู้หรือไม่ว่า : การบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารที่มีปริมาณเกลือและโซเดียมสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหรือภาวะความดันโลหิตสูง ในการบริโภคอาหารแต่ละวันนอกจากเราจะได้รับปริมาณเกลือและโซเดียมที่ถูกปรุงแต่งในกระบวนการผลิตและการแปรรูปอาหารแล้ว ในขั้นตอนการประกอบอาหารยังมีการเพิ่มปริมาณเกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ เพิ่มในขณะรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณเกลือและโซเดียมเกินความต้องการ ซึ่งการบริโภคเกลือและโซเดียมเกินความต้องการเช่นนี้มีผลกระทบต่อภาวะความดันโลหิตสูง การฝึกนิสัยการรับประทานอาหารทีมีรสชาติพอดีไม่เค็ม จะเป็นการลดปริมาณการบริโภคเกลือและโซเดียม ซึ่งสามารถลดปัจจัยเสี่ยงและควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงได้ เมื่อสามารถควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงได้ก่อจะส่งผลไปสู่การลดการเกิดปัญหาสุขภาพจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน

ข้อแนะนำในการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม

1 เลือกซื้อผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ที่สดใหม่แทนการเลือกซื้ออาหารกระป๋อง ผักดองและอาหารสำเร็จรูป
2 หากต้องเลือกซื้ออาหารกระป๋องหรืออาหารสำเร็จรูปควรอ่านฉลากอาหารทุกครั้ง และเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่ำหรือน้อย (สำหรับประชาชนทั่วไปควรบริโภคเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือน้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน)
3 ล้างผักและเนื้อสัตว์ที่ใช้ประกอบอาหารให้สะอาด เพื่อชะล้างเกลือออก
4 ลดการใช้เกลือและเครื่องปรุงรส หันมาใช้เครื่องเทศและสมุนไพรที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ เช่น หัวหอม กระเทียม ขิง พริกไทย มะนาว ผงกระหรี่ แทน
5 ไม่วางภาชนะหรือขวดใส่เกลือรวมทั้งเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น ซอส ซีอิ๊วขาวและน้ำปลาไว้บนโต๊ะอาหารทุกมื้อ
6. ชิมอาหารก่อนรับประทาน ฝึกการรับประทานอาหารที่มีรสชาติพอเหมาะ ไม่เค็มจัดหรือหวานจัด
7 ปรุงอาหารรับประทานอาหารเองแทนการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือการซื้ออาหารสำเร็จรูป

อาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง ได้แก่

1 อาหารที่ใช้เกลือปรุงรส ได้แก่ ซอสรสเค็ม (เช่น น้ำปลา ซี้อิ๊ว ซอสหอยนางรม เต้าเจี้ยว), ซอสหลายรส (เช่น ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ซี้อิ๊วหวาน)
2 อาหารที่ใช้เกลือถนอมอาหาร ได้แก่ อาหารตากแห้ง เช่น กะปิ เต้าหู้ยี้ แหนม, อาหารปรุงต่างๆ เช่น ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง ผลไม้ดอง ผักดอง รวมถึงอาหารสำเร็จรูปชนิดผง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม อาหารที่มีเกลือโซเดียมปานกลาง ได้แก่ เป็นอาหารที่ใส่สารปรุงแต่งรส ได้แก่ ผงชูรส สารกันบูด ผงฟู อาหารที่มีโซเดียมอยู่ตามธรรมชาติ ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะอาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู หอย ปลาทะเล การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยลดการบริโภคเกลือและโซเดียม หรือลดเค็มนั่นเอง ก็จะเพิ่มตัวช่วยให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูง ดังเช่นคำที่ว่า 'ลดเค็ม ลดความดัน ป้องกันอัมพฤกษ์ อัมพาต'

โดย กลุ่มเพิ่มคุณภาพระบบบริการ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค